กัญชา มีประโยชน์ทางการแพทย์ ทางเลือกใหม่ของคนเจ็บป่วย

0
1357

ช่วงนี้กระแสกัญชามาแรงอย่างฉุดไม่อยู่ จากที่เคยเป็นสารเสพติด ใครก็กลัวไม่กล้าใช้ เพราะมันไม่ดี ทำลายร่างกาย และระบบประสาท แต่ปัจจุบันได้มีการศึกษาและผลการรักษาจากกัญชาออกมาให้เห็นมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันกัญชากลายเป็นพืชที่ใกล้จะถูกกฎหมายแล้ว (ยังรออยู่สำหรับประเทศไทย) สามารถจ่ายให้คนไข้ได้

กัญชา
ภาพจาก pixabay.com

เรานำกัญชามาสกัดได้สารสำคัญอยู่ 2 ชนิด ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ คือ

  • THC (delta-9tetrahydrocannabinol) เมื่อได้รับเข้าไปแล้วจะเกิดอาการเคลิ้ม ผ่อนคลายวิตกกังวล รู้สึกสุข แต่บางรายอาจมีอาการเดินเซ กระวนกระวาย มีการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น หูแว่ว ภาพหลอน ความจำบกพร่อง สมาธิไม่ดี เสียการทรงตัว
  • CBD(cannabidiol)จะมีฤทธิ์ต่อประสาทน้อย เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกับ CB2 ซึ่งพบมากในระบบภูมิคุ้มกัน และประสาทส่วนปลาย ทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และปฎิกิริยาการอักเสบ มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบบริเวณปลายประสาทและลดปวดในระบบประสาท

กัญชาสกัด มีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างไร

จากการออกฤทธิ์ดังกล่าวจึงสามารถนำมาใช้รักษาโรคเจ็บปวดเรื้อรัง โรคปวดประเส้นประสาท กล้ามเนื้อเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคลมชักในเด็ก ยังใช้เป็นยาลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด สารสกัดยังใช้เพิ่มความยากอาหารให้กับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่สูญเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง

แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีผลการศึกษามากพอที่จะยืนยันได้ว่าสารสกัดน้ำมันกัญชาสามารถรักษาโรคทางจิตเวช แต่กลับจะส่งผลเสียต่อการดำเนินโรคมากกว่า เช่น หากนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจจะมีความถี่ในเรื่องการคิดฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้กัญชา  หรือโรคอารมณ์สองขั้ว พบว่าผู่วยจะมีอาการแย่ลงโดยเฉพาะอาการแมเนียทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถี่และปริมาณกัญชาที่ใช้ด้วย

เนื่องจากสารสกัดกัญชาถือว่าเป็นยาตัวใหม่ของวงการแพทย์ การใช้จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้มีความชำนาญ ซึ่งส่วนมากจะไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดน้ำมันกัญชากับผู้ป่วยที่มีอาการเริ่มต้น และสามารถรักษาได้ด้วยยา  แต่อาจจะนำน้ำมันสกัดนี้มาใช้รักษาร่วมกับการรักษามาตรฐาน

แพทย์จะเป็นผู้วินิฉัยว่าผู้ป่วยรายใดควรได้รับการรักษาด้วยสารสกัดกัญชา โดยแพทย์จะทำการชี้แจง ให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ความเสี่ยงและประโยชน์ โดยผู้ป่วยเองจะร่วมในการตัดสินใจเลือกใช้กัญชาได้ด้วยตนเอง เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดขนาดของใช้สกัดกัญชาที่เหมาะสม ต้องขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จึงเริ่มต้นด้วยปริมาณต่ำและปรับเพิ่มอย่างช้าๆ จนได้ขนาดของยาที่เหมาะสมคือได้ผลการรักษาสูงสุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดนั่นเอง

หากผู้รับสารสกัดน้ำมันกัญชามีอาการเวียนศีราษะ เสียความสมดุล หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตผิดปรกติ ควรแจ้งแพทย์เพื่อทำการปรับลดขนาดยา แต่หากมีอาการสับสน กระวนกระวาย วิตกกังวล ประสาทหลอน และโรคจิต จำเป็นต้องหยุดใช้ทันทีคะ

โรงพยาบาลนำร่อง บริการสารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้บริการสารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลนำร่องจำนวน 12 แห่ง ได้แก่

  • รพ.ลำปาง
  • รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก
  • รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์
  • รพ.สระบุรี
  • รพ.ราชบุรี
  • รพ.ระยอง
  • รพ.ขอนแก่น
  • รพ.อุดรธานี
  • รพ.บุรีรัมย์
  • รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
  • รพ.สุราษฎร์ธานี
  • รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขและแนวทางปฎิบัติที่เคร่งครัด  และภายในไม่นาน สถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่ง ก็จะได้รับน้ำมันกัญชาสูตรตำรับแพทย์แผนไทยเช่นกัน ได้แก่ รพ.เด่นชัย จ.แพร่ รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และรพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี

หากใครมีข้อสงสัยและต้องการสอบถามข้อมูลก็ไปรับบริการได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านคุณคะ อีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาโรค

ข้อมูลอ้างอิง
คําแนะนําการใช้กัญชาทางการแพทย์: dms.moph.go.th
ความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์: tmc.or.th
กัญชากับการรักษาโรค: pharmacy.mahidol.ac.th

Previous articleศัลยกรรมจมูก วิธีเตรียมตัวก่อนไปทำดั้งโด่ง
Next articleวิธีการเคลมประกันรถยนต์ ขั้นตอนง่ายไม่ยุ่งยาก