7 แนวคิดแย่ๆที่ทำให้ไม่อยากออมเก็บเงิน

0
5

คนไทยจำนวนมากยังไม่มีการวางแผนทางการเงิน ยิ่งแย่กว่านั้นคือไม่มีวินัยทางการเงิน ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เกิดเป็นหนี้สิ้น จากการสำรวจ มากกว่า 37% มีการออมไม่ถึง 10% ของรายได้ต่อเดือน แล้วเหตุผลใดที่ทำให้เกิดการออมเงินน้อย 

ผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  พบว่ามี ‘อคติเชิงพฤติกรรม’ 7 ข้อ เป็นเหตุที่ทำให้คนไทยไม่ออมเงิน พฤติกรรมเหล่านี้ มีอะไรกันบ้างมาดูกัน 

1.ชอบปัจจุบัน  

ชอบปัจจุบัน (Present Bias) คือ การให้น้ำหนักความสำคัญกับความสุขและผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต โดยมีอ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อไม่ออม หรือผลัดวันที่จะตั้งใจเก็บเงินไปเรื่อย ๆ  

2. ยึดติดสภาวะเดิม

อคติยึดติดสภาวะเดิม (Status quo bias) คือ การพึงพอใจกับสภาวะปัจจุบันมากกว่าจะเปลี่ยนไปลองทำสิ่งใหม่ที่จะแม้จะให้ผลประโยชน์มากกว่า เช่น เลือกที่จะออมในรูปแบบที่คุ้นเคยอย่างฝากธนาคาร มากกว่าที่จะลองออมในหุ้นหรือพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า 

3. โลกแคบ

อคติโลกแคบ(Narrow framing) คือ การมองทางเลือกที่ต้องพิจารณาในชีวิตเป็นกลุ่มย่อย ๆ แยกออกจากกัน หรือเพียงเฉพาะในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ด้อยกว่าเมื่อพิจารณาทุกทางเลือกหรือช่วงเวลาพร้อมกัน เช่น มองว่าการออมในปัจจุบันเป็นไปเพื่อบริหารรายรับ-รายจ่ายระยะสั้น หรือเก็บเงินซื้อของราคาแพง  

4. กลัวสูญเสียเกินเหตุ

อคติกลัวสูญเสียเกินเหตุ (Loss aversion) คือ ความสูญเสียจากสถานะปัจจุบันมีผลกระทบต่อจิตใจทางลบมากกว่าที่จะมีความสุขจากการได้รับผลตอบแทนที่มีขนาดเท่ากัน เช่น การมองว่าการออมเป็นการสูญเสียรายได้ที่จะนำมาบริโภค  

5. ละเลยอัตราทบต้น

อคติละเลยอัตราทบต้น (Exponential growth bias) คือ การไม่เข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งแปลงเงินออมให้มีมูลค่ามากขึ้นทวีคูณได้ หากมีการออมอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่ถอนเงินต้นออก  

6. แรงกดดันจากผู้คนในกลุ่ม

แรงกดดันจากผู้คนในกลุ่ม (Peer pressure) คือ อิทธิพลทางสังคมในกลุ่มเดียวกัน ทำให้มีพฤติกรรมคล้อยตาม เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามเพื่อน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ  

7. การมองโลกในแง่ดีเกินไป

การมองโลกในแง่ดีเกินไป (Overoptimism) คือ มีความมั่นใจจนล้น (Overconfidence) ทำให้เกิดความชะล่าใจ เช่น คิดว่าเมื่อเกษียณไป คงไม่เจ็บป่วยหนัก ทำให้ไม่เห็นความสำคัญกับการเตรียมพร้อมทางการเงิน 

หากเริ่มวางแผนทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ จะช่วยให้เราบริหารการเงินของตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อมีรายได้เข้ามาแล้ว ต้องจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และเหลือเป็นเงินออม เงินลงทุนเท่าไหร่ เพราะนี่คือการสร้างวินัยเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่ง และอิสรภาพทางการเงินได้เร็วชึ้น

Previous articleรวมให้แล้ว ! อยากสมัครงาน Programmer ต้องมีทักษะอะไรบ้าง
Next articleทำอย่างไรดีเมื่อลูกของเราน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์